Tuesday, May 02, 2006

ตอนที 1 เรื่องของข้อสอบ

คิดไว้นานพอสมควรแล้วว่าจะเขียนเรื่องดีๆน่าเอาแบบอย่างของคนญี่ปุ่นบ้าง หลังจากที่พล่ามเรื่องคนญี่ปู๊นคนญี่ปุ่นที่น่าเบื่อน่ารำคาญมาได้ 3 ตอนแล้ว เลยได้ฤกษ์เปิดตัวบล๊อกใหม่ในชื่อ (อยาก)อยู่อย่างยุ่น (ส่วนเรื่อง คนญี่ปู๊นคนญี่ปุ่น จะแยกตัวออกมาอีกบล๊อกนึงเร็วๆนี้ เพื่อง่ายต่อการค้นหา) ที่วันนี้ต้องเปิดตัวบล๊อกนี้ก็เนื่องมาจาก เมื่อวานได้ดูรายการ ถึงลูกถึงคน เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบใหม่ สด ซิง แถมเน่าทันทีอีกด้วย เฮียสรยุทธ์ของน้องๆ จัดรายการเรื่องข้อสอบโอเน็ต เอเน็ต มาเกือบจะครบสิบครั้งได้แล้วกระมัง ปัญหาก็ยังไม่สิ้นสุด จนน้องๆที่มาออกรายการจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศไปอยู่แล้ว

ผมรู้สึกว่าตัวเองช่างโชคดีอะไรอย่างนี้ ที่ได้มีโอกาสสอบเอ็นทรานซ์เป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นสอบปีละสองครั้งแล้วบอกคะแนนก่อนแล้วค่อยเลือกคณะ ปรับการนับเปอร์เซ็นท์จากคะแนนจีพีเอขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาเปลี่ยนเป็นระบบ แอดมิสชั่น ในปีพุทธศักราชนี้ หลังจากที่ผมได้ติดตามข่าวสารทั้งทางหนังสือพิมพ์ออนไลน์ และทีวีออนไลน์มาตลอดหนึ่งเดือน อยากจะบอกผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องว่า การทดสอบระบบด้วยการใช้จริงทันทีนั้น เค้าไม่เรียกว่าการทดสอบ แต่นั่นคือการหลอกลวง โดยที่มีเด็กทั่วประเทศตกเป็นเหยื่อของคดีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ถ้าจะบอกว่าปีนี้เป็นปีแรก ก็ต้องมีข้อผิดพลาดบ้าง นั่นเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นอย่างสิ้นเชิง เพราะนั่นคือการล้อเล่นกับอนาคตของเด็กไทยรุ่นนี้ แม้การเข้ามหาวิทยาลัยจะไมได้เป็นตัววัดความสำเร็จของคนอย่างแท้จริงก็ตาม แต่มันก็เสมือนเป็นบันไดขั้นแรก ถ้าก้าวผิด ก็อาจจะผิดไปทั้งชีวิตก็เป็นได้ แทนที่จะมีการทดสอบระบบด้วยการสอบควบคู่ไปกับการสอบแบบเดิมไปก่อน อย่างน้อยให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า การสอบจะมีปัญหาน้อยที่สุด ไม่ใช่มีปัญหาแปลกๆด้วยความสะเพร่าที่ไม่ควรมากมายอย่างนี้

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า ที่อารัมภบทมายืดยาว ก็อยากจะบอกถึงปัญหาต่างๆของข้อสอบที่น้องๆเค้าไปพบเจอกันมา แล้วจะเปรียบเทียบกับข้อสอบในญี่ปุ่นที่เคยได้เจอมา อย่างเช่น

1. เปลี่ยนจากการฝนด้วยดินสอดำ แล้วใช้เครื่องตรวจคำตอบออกมา >> มาเป็นการกากบาทด้วยปากกาหมึกสีน้ำเงินที่ต้องมีขนาดหัวเกิน 0.5 แล้วใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สแกน
2. ไม่มีการสลับชุดข้อสอบเลย เช่น สลับข้อของโจทย์ เป็นต้น ทำให้ง่ายต่อการทุจริตอย่างมาก
3. การแก้ไขคำตอบด้วยยางลบหมึกเท่านั้น หรืออาจจะใช้น้ำยาลบคำหมึกได้ ไม่เป็นที่ระบุแน่ชัด
4. มาตรฐานของผู้คุมสอบ เช่น หลับบ้าง พูดคุยเสียงดังบ้าง แจกข้อสอบช้าบ้าง เป็นต้น
5. การรับสมัครสอบ และการประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ห้องสอบ ด้วยทาง อินเตอร์เน็ท เท่านั้น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอัพเดทอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งก่อนวันสอบจริง

ข้อ1-4 เป็นปัญหาในขณะทำการสอบ ซึ่งในญี่ปุ่น เท่าที่ผมได้พอสัมผัสการสอบมาบ้าง เช่น ข้อสอบวัดระดับภาษาญีปุ่นระดับประเทศ เป็นต้น ก็ยังใช้การฝนด้วยดินสอดำ ซึ่งง่ายและไม่เสียเวลาแต่อย่างใด แก้ไขง่ายด้วยยางลบดินสอธรรมดา ผู้คุมสอบตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน เหมือนมีการเตรียมพร้อม การฝึกอบรมมาอย่างดี เพื่อที่จะได้เป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกห้องสอบ และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองซึ่งเป็นนิสัยที่ดีมากของคนญี่ปุ่นที่พี่ไทยของเราควรเอาแบบอย่างอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องการสลับชุดข้อสอบ เหมือนประเทศไทยกำลังถอยหลังเข้าคลอง เพราะก็เป็นสิ่งที่ทำกันมาตลอด ขนาดในญี่ปุ่น เพียงแค่ข้อสอบภาษาญี่ปุ่นทีสอบวัดความรู้ในมหาวิทยาลัยสำหรับคนต่างชาติ ยังสลับชุดกันเลย นับประสาอะไรกับข้อสอบระดับชาติ

ส่วนข้อ 5 เป็นส่วนที่ผมอยากพูดถึงมากที่สุด ไม่รู้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ขนาดเป็นถึงด็อกเตอร์ ศาสตราจารย์ จึงคิดว่าประเทศไทย ประเทศที่มีสัดส่วนคนชนบทมากกว่าคนเมืองไม่รู้กี่เท่า มีความสามารถที่จะดำเนินการจัดการสอบทุกอย่างผ่านทางอินเตอร์เน็ทได้อย่างง่ายดาย แถมการดำเนินการต่างๆยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรแน่นอน คิดอะไรได้ก็อัพเดทใหม่เรื่อยๆ แล้วคิดบ้างหรือไม่ว่า เด็กทุกคนจะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ขนาดประเทศที่เจริญทางด้านเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลกอย่างญี่ปุ่น ยังไม่ทำการสมัครสอบทางอินเตอร์เน็ทด้วยวิธีเดียวเลย (หรืออาจจะมีบ้าง ไม่ทราบแน่ชัด) ยกตัวอย่างเช่น การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นระดับประเทศ ต้องส่ง จดหมาย ไปเพื่อสมัคร พร้อมจ่ายเงินค่าสมัครทาง ไปรษณีย์ การประชาสัมพันธ์เรื่องสถานที่ซื้อใบสมัคร และวันสอบก็มีติดประกาศที่มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน แล้วก็จะได้รับบัตรสอบ รวมถึงห้องสอบ และสถานที่สอบที่แน่นอนทางจดหมาย และเมื่อสอบเสร็จ ก็จะได้รับผลสอบเป็นหลักฐานชัดเจนทางไปรษณีย์อีกเช่นกัน เพราะคนที่นี่เค้าเห็นความสำคัญของการสอบที่มีผลต่ออนาคตของผู้สอบนั้นๆเพื่อจะนำผลสอบไปใช้ประโยชน์อื่นๆต่อไป

นอกจากนั้น การจะปรับเปลี่ยนระบบอะไรสักอย่างหนึ่ง คนญี่ปุ่นก็จะมีการทำประชาพิจารณ์ที่แท้จริงและทำการบอกล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ที่มีผลกระทบได้เตรียมพร้อม จากนั้นก็จะมีการทดสอบระบบทุกอย่างจนมั่นใจแล้วว่าระบบใหม่นั้นจะเป็นที่คุ้นเคยกับคนที่จะต้องใช้และนำปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาประมวล แก้ไข จนเหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย แล้วจึงจะนำระบบใหม่นั้นมาใช้จริงในทางปฏิบัติ

เพราะว่าถ้าเกิดปัญหาอะไรตามมาแล้วนั้น นั่นคือ ความรับผิดชอบ ของผู้เปลี่ยนแปลงระบบ นั่นเอง


1 Comments:

At 7:50 PM, Blogger *BoW* said...

มาเป็นแขกในงานขึ้นบ้านใหม่ค่า~

ขอให้ได้รวบเล่มในเร็ววันนี้...
ได้เงินดีๆแล้วจะได้มีตังค์มาเลี้ยงลูกบ้าง หุหุหุ

ส่วนเรื่องสอบเอ็นท์นี่..
เมื่อวานได้ดูถึงลูกถึงคนอยู่เหมือนกัน
แล้วก็รู้สึกเห็นใจน้องๆอย่างสุดซึ้ง
เพราะในการกระทำบางอย่างของผู้ใหญ่โดยไม่รอบคอบนั้น ได้กลายเป็นตัวตัดสินอนาคตของเด็กไทยกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง

เพราะตัวเองมาอยู่ญี่ปุ่นทำให้เพิ่งรู้สึกว่า
จริงๆแล้วช่วงเวลานี้เด็กๆต้องรู้ผลเอ็นท์กันแล้วว่าจะได้อยู่คณะไหน สถาบันไหน

แต่ ณ ปัจจุบัน
ขนาดคะแนนยังไม่แน่นอนเลย
บางคนได้คะแนนภาษาไทย 120/100

ทำไปได้ยังไงคะ..

 

Post a Comment

<< Home