Tuesday, June 19, 2007

ตอนที่ 3 งานวิจัย กับคำว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

หลังจากอ่านหนังสือฉากญี่ปุ่นของท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์จบมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ทำให้ย้อนกลับมาดูสิ่งดีๆของคนญี่ปุ่น ของสังคมญี่ปุ่น ที่สามารถพัฒนาประเทศตัวเองขึ้นมาได้มากกว่าเรา ทั้งๆที่ต้นกำเนิดการพัฒนาบ้านเมืองก็เริ่มต้นมาในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แต่ความเร่งของการพัฒนามันช่างแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว สิ่งที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งก็คือ การศึกษา นั่นเอง จากหนังสือฉากญี่ปุ่น ท่านคึกฤทธิ์ได้บอกว่า ญี่ปุ่น ได้มีนโยบายในการพัฒนาด้านการศึกษาไปยังทุกๆที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น เป็นการกระจายการศึกษาให้ทั่วถึง สร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดในสังคมด้วยปัญญา แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ที่เดียวเหมือนเมืองไทย ดังจะเห็นว่าญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยเก่าแก่กว่าร้อยปี และมีชื่อเสียงกระจายไปทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้

ที่เกริ่นเรื่องการศึกษามายืดยาวนั้น เพราะผมคิดว่ามันเป็นพื้นฐานสำคัญจริงๆที่จะทำให้คนเรารู้เท่าทันคน และสามารถที่จะพัฒนาอะไรต่างๆได้มากมาย ซึ่งควรจะมีคำว่าคุณธรรมจริยธรรมเข้ามากำกับด้วย แต่ที่อยากจะเขียนจริงๆวันนี้ก็คือเรื่องของการพัฒนาการศึกษาการวิจัย รวมถึงพื้นฐานของความคิดของคนญี่ปุ่นที่ถ้าคนไทย(ส่วนใหญ่)นำมาใช้บ้างก็จะดีมิใช่น้อยทีเดียว

ภาควิศวะเคมีของมหาวิทยาลัยผมนั้น ทุกปี ในวันก่อตั้งมหาวิทยาลัย (18มิย) ซึ่งเป็นวันหยุด จะเป็นวันที่มีการพรีเซนท์เตชั่นของเด็กปริญญาโทปีหนึ่งที่เพิ่งเข้าเรียนได้ประมาณสองเดือนกว่าๆ การเรียนปริญญาโทขึ้นไปนั้น จะเป็นการเรียนแบบเน้นไปทางงานวิจัยอย่างที่หลายๆคนรู้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในด้านที่เราจะทำการวิจัย ซึ่งในทางการวิจัย เราจะเรียกว่า literature review เด็กโทปีหนึ่งทุกคนที่นี่ จะต้องอ่านรีวิวเปเปอร์ในหัวข้องานวิจัยของตน อย่างน้อยสิบเปเปอร์ และต้องเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่พึงประสงค์เท่าไหร่นัก โดยทุกคนจะต้องสรุปเปเปอร์ที่เราอ่านทั้งหมดให้มาอยู่ในหน้ากระดาษเอสี่สามหน้า และเตรียมพาวเวอร์พ้อยท์สำหรับพรีเซนท์ใหญ่ของเด็กโทปีหนึ่งทุกคน

การที่ผมไปฟังพรีเซนท์เตชั่นรีวิวของรุ่นน้องเมื่อวาน ทำให้มองตัวผมเองกลับไปสองปีที่แล้ว วันที่เข้าเรียนโทใหม่ๆ วันที่ต้องมานั่งอ่านเปเปอร์วิชาการในเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยมีพื้นฐานมาเลย มาเริ่มนับหนึ่งใหม่หมดกับสิ่งที่คนอื่นๆเค้าคิดเค้าทำกันมาหลายสิบปีแล้ว หลายครั้งหลายหน ที่อาจารย์เคยบอกว่าให้ไปไล่อ่านเปเปอร์ให้หมดว่าเค้าทำอะไรมาแล้วบ้าง จะได้คิดออกว่าเราควรจะทำอะไรให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้

กลับมาเรื่องรีวิวเมื่อวานนี้ ได้ฟังพรีเซนท์ของเด็กมาเลย์ที่แล็บ แล้วโดนอาจารย์บอกว่า ที่พรีเซนท์มาทั้งหมดก็เหมือนกับที่เค้าเขียนๆไว้ในตำราเรียน แล้วจริงๆตัวเองอยากจะบอกอะไร อยากจะทำอะไร พอฟังอาจารย์วิจารณ์แล้ว ก็คิดว่าเหมือนกับตัวเองไม่มีผิด ที่มักจะคิดเสมอว่า รีวิว คือการศึกษาความรู้พื้นฐานทั้งหมดที่เค้าศึกษากันมา แล้วนำมาสรุปเพื่อให้ตัวเองมีภูมิความรู้ในเรื่องที่จะคิดทำต่อไป แต่จริงๆแล้วหาใช่แค่นั้นไม่

จริงอยู่ที่ความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากในการที่จะต่อยอดความรู้ของตนออกไป แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การที่สามารถคิด ย้ำว่า ต้องคิด คิดว่าสิ่งที่เค้าทำกันมานั้น มีสิ่งใดบ้างที่ยังเป็นปัญหา หรือมีสิ่งใดบ้างที่ยังศึกษาไม่ถ่องแท้ นอกจากนั้น ยังจะต้องคิดเปรียบเทียบสิ่งที่เค้าศึกษากันแล้วนั้นว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วเราสามารถที่จะนำไปพัฒนาตรงไหนได้บ้าง

นอกจากนั้น สิ่งที่เราจะอ่านรีวิวเพื่อจะนำไปทำการวิจัยจริงๆนั้น ต้องหมั่นดูอยู่เสมอว่า ภายในไม่เกินห้าปีล่าสุด มีใครคิดค้นอะไรใหม่บ้าง ต้องอัพเดทติดตามข้อมูลใหม่ๆอยู่เสมอ กระบวนการทางความคิดเหล่านี้ จะพูดว่ามันอยู่ในสายเลือดของคนญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เพราะผมมองดูพรีเซนท์เตชั่นของเด็กญีปุ่นส่วนใหญ่แล้ว (แม้จะไม่ทุกคนก็ตาม) มักมีสิ่งเหล่านี้อยู่พอสมควร แล้วสามารถที่จะตอบคำถามอาจารย์ที่ว่า คิดจะทำอะไรต่อ แล้วคิดว่าสิ่งที่เค้าทำมานั้นดีไม่ดีอย่างไร การรีวิวที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่สรุปแล้วเออออกับสิ่งที่เค้าทำมาเหมือนเขียนตำรา แต่ต้องวิเคราะห์และหัดตั้งคำถามอยู่เสมอด้วย โดยต้องมองให้รอบด้าน แล้วอธิบายให้เป็นภาษาของตนเองให้ได้

กระบวนการเรียนรู้แบบนี้แหละ ที่ในหลวงได้พระราชทาน เป็นสามคำง่ายๆ แต่ได้ใจความยิ่งนัก เหมือนกับกระบวนการวิจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีและการวิจัยในทุกวันนี้ได้ นั่นก็คือ

ข้อหนึ่ง คือ เข้าใจ ต้องเข้าใจว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร และศึกษาทำความเข้าใจกับความรู้พื้นฐานนั้นและต่อยอดให้เข้าใจกับงานวิจัยใหม่ๆที่เค้าทำกัน
ข้อสอง คือ เข้าถึง นั่นก็คือการคิด คิด และก็คิดวิเคราะห์ถึงข้อมูลที่เราได้รับ ถึงข้อดีข้อเสีย คิดเปรียบเทียบ และลงลึกถึงรายละเอียด
ข้อสาม คือ พัฒนา ก็คือการนำข้อสรุปทางความคิดของเราที่ตกผลึกแล้วนั้น นำมาพัฒนาเป็นงานวิจัยที่เป็นตัวของตัวเอง มีความเป็น originality และทำให้เกิดเป็นงานวิจัยใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้

กระบวนการคิดแบบงานวิจัยนี้ คนญี่ปุ่นยังนำไปใช้ให้เห็นอย่างแพร่หลาย เสมือนอยู่ในสายเลือดอย่างที่ผมได้บอกไป ไม่ว่าจะเป็นในงานข่าว ที่ไม่ใช่แค่มานั่งเล่าข่าวมากมาย แล้วก็ขำๆกันเหมือนที่เป็นที่นิยมในเมืองไทย แต่ที่ญีปุ่น เน้นที่ข่าวสำคัญ แต่เจาะลึกถึงรายละเอียด เช่น ข่าวเครื่องบินขัดข้อง หลังจากที่เหตุเกิดไม่นาน ก็มีการจำลองเหตุการณ์ในสตูดิโอ พร้อมกับวิเคราะห์ถึงสาเหตุอย่างละเอียด ประหนึ่งราวกับตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนเสียเอง หรือแม้แต่รายการเกมโชว์ หรือรายการทีวีหลายๆรายการ ที่มีการให้ความรู้รอบตัวกับประชาชน โดยที่บางรายการถึงกับมีการทำวิจัยเอง บางรายการก็บอกถึงรายละเอียดที่มาที่ไปได้อย่างลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ความรู้กับประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องใกล้ๆตัว อย่าง อาหาร สุขภาพ เป็นต้น ในเมืองไทยเอง ก็เริ่มมีรายการดีๆมากขึ้น โดยเฉพาะของบริษัททีวีบูรพา เช่น กบนอกกะลา และจุดเปลี่ยน หรือของบริทพาโนราม่าเวิร์ลด์ไวด์ เช่น ปราชญ์เดินดิน และโลกมหัศจรรย์ เป็นต้น ก็อยากเห็นรายการเหล่านี้ออกมามากขึ้นอีก เพื่อให้สังคนไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

คนไทยมีของดีอยู่ใกล้ตัว แต่ไม่มีใครนำไปใช้ ไม่มีใครช่วยกันส่งเสริมอย่างจริงจัง อย่าง หลักคิดพระราชทาน อย่าง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

Tuesday, May 22, 2007

ตอนที่ 2 เดินตามความฝัน

วันนี้อยู่ดีๆ ขณะที่กำลังตั้งใจเขียนเปเปอร์แรกให้เสร็จภายในเดือนนี้(หลังจากดองมานาน) เด็กปีสี่ในแล็บก็เดินเอานามบัตรของเด็กในแล็บที่จบตรีไปเมื่อสองปีทีแล้วมาให้ แล้วได้แรงบันดาลใจบางอย่างให้มาเขียนบล็อกนี้ หลังจากที่ไม่ได้เขียนมาปีหนึ่งเต็มๆ ไม่รู้จะมีใครมาอ่านหรือเปล่า แต่ก็ถือว่าเป็นบันทึกของตัวเองแล้วกัน

ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่า ไอ้รุ่นน้องในนามบัตรนี้ เคยอยู่แล็บผมเมื่อสองปีทีแล้ว ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กโทปีหนึ่ง ส่วนมันเป็นเด็กตรีปีสี่ แล้วมาทำเรื่องไบโอแมสเหมือนกัน เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี หน้าตายิ้มแย้มตลอดเวลา ชวนผมคุยบ้างเป็นบางครั้ง

ชื่อเสียงเรียงนามว่า โอโมโตะคุง จริงๆแล้ว โอโมโตะคุง สอบเข้าโทได้แล้ว เหมือนเด็กญี่ปุ่นที่ภาคทั่วไป ที่จะต้องจบโทอย่างน้อย เพื่อสมัครเข้าทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนตามระบบสังคม แต่ โอโมโตะคุง กลับบอกโปรเฟสเซอร์ก่อนจะพรีเซนท์จบตรีไม่นานว่ามันจะไม่เรียนต่อโทแล้ว หลายๆคนในแล็บไม่เข้าใจมันว่ามันจะทำอะไรต่อ ทั้งๆที่ก็ไม่ได้หางานทำงานอะไร

ผมคุยกับมันบ่อยๆ ว่าทำไมมันถึงไม่เรียนต่อ โอโมโตะคุง บอกว่า เพราะอยากค้นหาตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไรจริงๆ ผมว่ามันก็เป็นเหตุผลที่มากพอ และเป็นการตัดสินใจที่กล้าพอด้วยเช่นกัน (ซึ่งผมไม่เคยทำ)

ขอเล่าอีกนิดนึงว่า โอโมโตะคุง เป็นหัวหน้าชมรมอาสาสมัครชมรมหนึ่งในเกียวโต ผมเคยไปร่วมกิจกรรมตามคำชวนของโอโมโตะคุงครั้งนึง เป็นกิจกรมมอาสาสมัครที่แปลกที่สุดครั้งนึงที่ผมเคยเจอมาเลยทีเดียว
แต่มันก็บอกอะไรบางอย่างได้มากพอสมควร

กิจกรรมครั้งนั้น คือ การไปเคาะประตุบ้านหรือบริษัทแต่ละบ้านในวันอาทิตย์ แล้วถามเค้าว่า มีงานอะไรให้ช่วยหรือทำบ้างมั้ยครับ โดยไม่ได้มีการเตรียมการอะไรใดๆทั้งสิ้น เหมือนประหนึ่งว่า ฉันอยากเป็นอาสาสมัคร หางานอะไรให้ทำหน่อย ว่างั้น เลยแทนที่จะเป็นการช่วยเหลือ กลับกลายเป็นภาระที่ต้องให้เค้าหาอะไรมาให้เราทำ

สุดท้ายพวกผม ก็ได้ไปนั่งเล่นเป็นเพื่อนกับพวกคนออทิสติกที่ศูนย์แห่งหนึ่ง หลังจากที่เดินเคาะประตูบ้านมาหลายชั่วโมง คุยกับผู้คนมามากมาย

ทำให้ผมกลับมาคิดว่า ประเทศที่เจริญมากๆอย่างญี่ปุ่น ช่องว่างระหว่างชนชั้นน้อย ทำให้มีการช่วยเหลือแบ่งปันคนตกทุกข์ได้ยาก อย่างในประเทศไทย ก็น้อยลงตามไปด้วย ค่ายอาสาพัฒนาชนบทแบบที่เด็กมหาลัยบ้านเราทำกัน ก็แทบจะไม่มี หรือจะบอกว่าไม่มีเลยก็ว่าได้ เพราะความเจริญมันทั่วถึงโดยรัฐและท้องถิ่นอยู่แล้ว

กลับมาที่เรื่องของ โอโมโตะคุง กันต่อดีกว่า หลังจากที่มันเรียนจบไป ผมก็ไม่ได้เจอ และไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย เหมือนตอนแรกมันอยากจะไปช่วยเหลือชนบทในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย แต่สุดท้าย ผมกลับไปเจอมันอีกทีเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่แถวย่าน ฮิกาชิยาม่า ผมพาเพื่อนจากชิโกกุไปเดินเที่ยวเล่น ระหว่างที่เดินไปวัดคิโยมิสึ ก็ได้เจอ โอโมโตะคุง กำลังทำงานพิเศษ ร้านขายปลาแห้งอยู่ บอกว่ากำลังเป็น ฟรีเตอร์ หรือแปลว่า ทำงานพิเศษไปเรื่อยๆไม่มีสังกัดใดๆ

แล้วหลังจากนั้น ก็ได้เจออีกครั้งที่เดิม เมื่อตอนที่พ่อแม่มาญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนสามนี้เอง

แล้ววันนั้น โอโมโตะคุง บอกว่า เค้าจะเป็น ชาโจ หรือเจ้าของกิจการ ในไม่ช้านี้ แต่ไม่ยอมบอกว่าจะเป็นอะไร เพียงแต่บอกว่า จะติดต่อกลับมา

แล้ววันนี้ ผมก็ได้รับนามบัตรจากเด็กปีสี่ในแล็บ บอกว่า โอโมโตะคุง ฝากมาให้ และกำชับว่าไม่ให้บอกใครในแล็บด้วย

ผมไม่เคยรู้ว่า โอโมโตะคุง วาดรูปสีน้ำได้เท่มากๆ มันเปิดบริษัทรับจ้างทำสมุดหรือหนังสือภาพ ที่ชื่อว่า ชาบนดามะ (ไม่รู้ความหมายเหมือนกัน) รับทำหนังสือภาพสีน้ำแฮนเมดตามออร์เดอร์ ซึ่งจะมีเล่มเดียวในโลกเท่านั้น จะทำเป็นของขวัญให้คนที่คุณรักอะไรได้ตามใจชอบ

ทันทีที่อ่านรายละเอียดต่างๆในเว็บจบ ก็รู้สึกตื่นตัน ที่ โอโมโตะคุง ได้ทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ดีกว่ามานั่งทำงานตามคำสั่งในบริษัทตามแบบฉบับคนญี่ปุ่นทั่วไป จงรักภักดีต่อบริษัทนั้นๆ อย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ก็สิ่งนี้แหละนะที่ทำให้คนญี่ปุ่นเจริญมาทุกวันนี้ได้

เขียนมาซะยืดยาว ก็ขออวยพรให้ โอโมโตะคุง มีความสุขและประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ทำ น็อตโตะซังคนนี้ ก็จะพยายามตั้งใจทำในสิ่งที่อยากทำ ที่ฝัน เท่าที่จะทำได้เหมือนกัน เพื่อนๆที่แวะเข้ามาอ่าน (จะมีมั้ยนี่) ลองเข้าไปดูเว็บหนังสือภาพสีน้ำของรุ่นน้องคนนี้ได้เลย ที่นี่คร้าบ http://www.geocities.jp/shabomdama_kyoto/index.htm

นี่อาจจะเป็นผลของละครญี่ปุ่น ที่มักจะบอกถึงความพยายามในการเดินตามความฝันของตัวเอง ดูแล้วเป็นละครที่จรรโลงใจ สร้างแรงบันดาลใจดีมากๆ ไม่เหมือนละครน้ำเน่าของไทยเรา

Tuesday, May 02, 2006

ตอนที 1 เรื่องของข้อสอบ

คิดไว้นานพอสมควรแล้วว่าจะเขียนเรื่องดีๆน่าเอาแบบอย่างของคนญี่ปุ่นบ้าง หลังจากที่พล่ามเรื่องคนญี่ปู๊นคนญี่ปุ่นที่น่าเบื่อน่ารำคาญมาได้ 3 ตอนแล้ว เลยได้ฤกษ์เปิดตัวบล๊อกใหม่ในชื่อ (อยาก)อยู่อย่างยุ่น (ส่วนเรื่อง คนญี่ปู๊นคนญี่ปุ่น จะแยกตัวออกมาอีกบล๊อกนึงเร็วๆนี้ เพื่อง่ายต่อการค้นหา) ที่วันนี้ต้องเปิดตัวบล๊อกนี้ก็เนื่องมาจาก เมื่อวานได้ดูรายการ ถึงลูกถึงคน เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบใหม่ สด ซิง แถมเน่าทันทีอีกด้วย เฮียสรยุทธ์ของน้องๆ จัดรายการเรื่องข้อสอบโอเน็ต เอเน็ต มาเกือบจะครบสิบครั้งได้แล้วกระมัง ปัญหาก็ยังไม่สิ้นสุด จนน้องๆที่มาออกรายการจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศไปอยู่แล้ว

ผมรู้สึกว่าตัวเองช่างโชคดีอะไรอย่างนี้ ที่ได้มีโอกาสสอบเอ็นทรานซ์เป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นสอบปีละสองครั้งแล้วบอกคะแนนก่อนแล้วค่อยเลือกคณะ ปรับการนับเปอร์เซ็นท์จากคะแนนจีพีเอขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาเปลี่ยนเป็นระบบ แอดมิสชั่น ในปีพุทธศักราชนี้ หลังจากที่ผมได้ติดตามข่าวสารทั้งทางหนังสือพิมพ์ออนไลน์ และทีวีออนไลน์มาตลอดหนึ่งเดือน อยากจะบอกผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องว่า การทดสอบระบบด้วยการใช้จริงทันทีนั้น เค้าไม่เรียกว่าการทดสอบ แต่นั่นคือการหลอกลวง โดยที่มีเด็กทั่วประเทศตกเป็นเหยื่อของคดีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ถ้าจะบอกว่าปีนี้เป็นปีแรก ก็ต้องมีข้อผิดพลาดบ้าง นั่นเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นอย่างสิ้นเชิง เพราะนั่นคือการล้อเล่นกับอนาคตของเด็กไทยรุ่นนี้ แม้การเข้ามหาวิทยาลัยจะไมได้เป็นตัววัดความสำเร็จของคนอย่างแท้จริงก็ตาม แต่มันก็เสมือนเป็นบันไดขั้นแรก ถ้าก้าวผิด ก็อาจจะผิดไปทั้งชีวิตก็เป็นได้ แทนที่จะมีการทดสอบระบบด้วยการสอบควบคู่ไปกับการสอบแบบเดิมไปก่อน อย่างน้อยให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า การสอบจะมีปัญหาน้อยที่สุด ไม่ใช่มีปัญหาแปลกๆด้วยความสะเพร่าที่ไม่ควรมากมายอย่างนี้

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า ที่อารัมภบทมายืดยาว ก็อยากจะบอกถึงปัญหาต่างๆของข้อสอบที่น้องๆเค้าไปพบเจอกันมา แล้วจะเปรียบเทียบกับข้อสอบในญี่ปุ่นที่เคยได้เจอมา อย่างเช่น

1. เปลี่ยนจากการฝนด้วยดินสอดำ แล้วใช้เครื่องตรวจคำตอบออกมา >> มาเป็นการกากบาทด้วยปากกาหมึกสีน้ำเงินที่ต้องมีขนาดหัวเกิน 0.5 แล้วใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สแกน
2. ไม่มีการสลับชุดข้อสอบเลย เช่น สลับข้อของโจทย์ เป็นต้น ทำให้ง่ายต่อการทุจริตอย่างมาก
3. การแก้ไขคำตอบด้วยยางลบหมึกเท่านั้น หรืออาจจะใช้น้ำยาลบคำหมึกได้ ไม่เป็นที่ระบุแน่ชัด
4. มาตรฐานของผู้คุมสอบ เช่น หลับบ้าง พูดคุยเสียงดังบ้าง แจกข้อสอบช้าบ้าง เป็นต้น
5. การรับสมัครสอบ และการประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ห้องสอบ ด้วยทาง อินเตอร์เน็ท เท่านั้น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอัพเดทอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งก่อนวันสอบจริง

ข้อ1-4 เป็นปัญหาในขณะทำการสอบ ซึ่งในญี่ปุ่น เท่าที่ผมได้พอสัมผัสการสอบมาบ้าง เช่น ข้อสอบวัดระดับภาษาญีปุ่นระดับประเทศ เป็นต้น ก็ยังใช้การฝนด้วยดินสอดำ ซึ่งง่ายและไม่เสียเวลาแต่อย่างใด แก้ไขง่ายด้วยยางลบดินสอธรรมดา ผู้คุมสอบตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน เหมือนมีการเตรียมพร้อม การฝึกอบรมมาอย่างดี เพื่อที่จะได้เป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกห้องสอบ และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองซึ่งเป็นนิสัยที่ดีมากของคนญี่ปุ่นที่พี่ไทยของเราควรเอาแบบอย่างอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องการสลับชุดข้อสอบ เหมือนประเทศไทยกำลังถอยหลังเข้าคลอง เพราะก็เป็นสิ่งที่ทำกันมาตลอด ขนาดในญี่ปุ่น เพียงแค่ข้อสอบภาษาญี่ปุ่นทีสอบวัดความรู้ในมหาวิทยาลัยสำหรับคนต่างชาติ ยังสลับชุดกันเลย นับประสาอะไรกับข้อสอบระดับชาติ

ส่วนข้อ 5 เป็นส่วนที่ผมอยากพูดถึงมากที่สุด ไม่รู้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ขนาดเป็นถึงด็อกเตอร์ ศาสตราจารย์ จึงคิดว่าประเทศไทย ประเทศที่มีสัดส่วนคนชนบทมากกว่าคนเมืองไม่รู้กี่เท่า มีความสามารถที่จะดำเนินการจัดการสอบทุกอย่างผ่านทางอินเตอร์เน็ทได้อย่างง่ายดาย แถมการดำเนินการต่างๆยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรแน่นอน คิดอะไรได้ก็อัพเดทใหม่เรื่อยๆ แล้วคิดบ้างหรือไม่ว่า เด็กทุกคนจะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ขนาดประเทศที่เจริญทางด้านเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลกอย่างญี่ปุ่น ยังไม่ทำการสมัครสอบทางอินเตอร์เน็ทด้วยวิธีเดียวเลย (หรืออาจจะมีบ้าง ไม่ทราบแน่ชัด) ยกตัวอย่างเช่น การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นระดับประเทศ ต้องส่ง จดหมาย ไปเพื่อสมัคร พร้อมจ่ายเงินค่าสมัครทาง ไปรษณีย์ การประชาสัมพันธ์เรื่องสถานที่ซื้อใบสมัคร และวันสอบก็มีติดประกาศที่มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน แล้วก็จะได้รับบัตรสอบ รวมถึงห้องสอบ และสถานที่สอบที่แน่นอนทางจดหมาย และเมื่อสอบเสร็จ ก็จะได้รับผลสอบเป็นหลักฐานชัดเจนทางไปรษณีย์อีกเช่นกัน เพราะคนที่นี่เค้าเห็นความสำคัญของการสอบที่มีผลต่ออนาคตของผู้สอบนั้นๆเพื่อจะนำผลสอบไปใช้ประโยชน์อื่นๆต่อไป

นอกจากนั้น การจะปรับเปลี่ยนระบบอะไรสักอย่างหนึ่ง คนญี่ปุ่นก็จะมีการทำประชาพิจารณ์ที่แท้จริงและทำการบอกล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ที่มีผลกระทบได้เตรียมพร้อม จากนั้นก็จะมีการทดสอบระบบทุกอย่างจนมั่นใจแล้วว่าระบบใหม่นั้นจะเป็นที่คุ้นเคยกับคนที่จะต้องใช้และนำปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาประมวล แก้ไข จนเหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย แล้วจึงจะนำระบบใหม่นั้นมาใช้จริงในทางปฏิบัติ

เพราะว่าถ้าเกิดปัญหาอะไรตามมาแล้วนั้น นั่นคือ ความรับผิดชอบ ของผู้เปลี่ยนแปลงระบบ นั่นเอง