Tuesday, May 22, 2007

ตอนที่ 2 เดินตามความฝัน

วันนี้อยู่ดีๆ ขณะที่กำลังตั้งใจเขียนเปเปอร์แรกให้เสร็จภายในเดือนนี้(หลังจากดองมานาน) เด็กปีสี่ในแล็บก็เดินเอานามบัตรของเด็กในแล็บที่จบตรีไปเมื่อสองปีทีแล้วมาให้ แล้วได้แรงบันดาลใจบางอย่างให้มาเขียนบล็อกนี้ หลังจากที่ไม่ได้เขียนมาปีหนึ่งเต็มๆ ไม่รู้จะมีใครมาอ่านหรือเปล่า แต่ก็ถือว่าเป็นบันทึกของตัวเองแล้วกัน

ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่า ไอ้รุ่นน้องในนามบัตรนี้ เคยอยู่แล็บผมเมื่อสองปีทีแล้ว ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กโทปีหนึ่ง ส่วนมันเป็นเด็กตรีปีสี่ แล้วมาทำเรื่องไบโอแมสเหมือนกัน เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี หน้าตายิ้มแย้มตลอดเวลา ชวนผมคุยบ้างเป็นบางครั้ง

ชื่อเสียงเรียงนามว่า โอโมโตะคุง จริงๆแล้ว โอโมโตะคุง สอบเข้าโทได้แล้ว เหมือนเด็กญี่ปุ่นที่ภาคทั่วไป ที่จะต้องจบโทอย่างน้อย เพื่อสมัครเข้าทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนตามระบบสังคม แต่ โอโมโตะคุง กลับบอกโปรเฟสเซอร์ก่อนจะพรีเซนท์จบตรีไม่นานว่ามันจะไม่เรียนต่อโทแล้ว หลายๆคนในแล็บไม่เข้าใจมันว่ามันจะทำอะไรต่อ ทั้งๆที่ก็ไม่ได้หางานทำงานอะไร

ผมคุยกับมันบ่อยๆ ว่าทำไมมันถึงไม่เรียนต่อ โอโมโตะคุง บอกว่า เพราะอยากค้นหาตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไรจริงๆ ผมว่ามันก็เป็นเหตุผลที่มากพอ และเป็นการตัดสินใจที่กล้าพอด้วยเช่นกัน (ซึ่งผมไม่เคยทำ)

ขอเล่าอีกนิดนึงว่า โอโมโตะคุง เป็นหัวหน้าชมรมอาสาสมัครชมรมหนึ่งในเกียวโต ผมเคยไปร่วมกิจกรรมตามคำชวนของโอโมโตะคุงครั้งนึง เป็นกิจกรมมอาสาสมัครที่แปลกที่สุดครั้งนึงที่ผมเคยเจอมาเลยทีเดียว
แต่มันก็บอกอะไรบางอย่างได้มากพอสมควร

กิจกรรมครั้งนั้น คือ การไปเคาะประตุบ้านหรือบริษัทแต่ละบ้านในวันอาทิตย์ แล้วถามเค้าว่า มีงานอะไรให้ช่วยหรือทำบ้างมั้ยครับ โดยไม่ได้มีการเตรียมการอะไรใดๆทั้งสิ้น เหมือนประหนึ่งว่า ฉันอยากเป็นอาสาสมัคร หางานอะไรให้ทำหน่อย ว่างั้น เลยแทนที่จะเป็นการช่วยเหลือ กลับกลายเป็นภาระที่ต้องให้เค้าหาอะไรมาให้เราทำ

สุดท้ายพวกผม ก็ได้ไปนั่งเล่นเป็นเพื่อนกับพวกคนออทิสติกที่ศูนย์แห่งหนึ่ง หลังจากที่เดินเคาะประตูบ้านมาหลายชั่วโมง คุยกับผู้คนมามากมาย

ทำให้ผมกลับมาคิดว่า ประเทศที่เจริญมากๆอย่างญี่ปุ่น ช่องว่างระหว่างชนชั้นน้อย ทำให้มีการช่วยเหลือแบ่งปันคนตกทุกข์ได้ยาก อย่างในประเทศไทย ก็น้อยลงตามไปด้วย ค่ายอาสาพัฒนาชนบทแบบที่เด็กมหาลัยบ้านเราทำกัน ก็แทบจะไม่มี หรือจะบอกว่าไม่มีเลยก็ว่าได้ เพราะความเจริญมันทั่วถึงโดยรัฐและท้องถิ่นอยู่แล้ว

กลับมาที่เรื่องของ โอโมโตะคุง กันต่อดีกว่า หลังจากที่มันเรียนจบไป ผมก็ไม่ได้เจอ และไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย เหมือนตอนแรกมันอยากจะไปช่วยเหลือชนบทในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย แต่สุดท้าย ผมกลับไปเจอมันอีกทีเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่แถวย่าน ฮิกาชิยาม่า ผมพาเพื่อนจากชิโกกุไปเดินเที่ยวเล่น ระหว่างที่เดินไปวัดคิโยมิสึ ก็ได้เจอ โอโมโตะคุง กำลังทำงานพิเศษ ร้านขายปลาแห้งอยู่ บอกว่ากำลังเป็น ฟรีเตอร์ หรือแปลว่า ทำงานพิเศษไปเรื่อยๆไม่มีสังกัดใดๆ

แล้วหลังจากนั้น ก็ได้เจออีกครั้งที่เดิม เมื่อตอนที่พ่อแม่มาญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนสามนี้เอง

แล้ววันนั้น โอโมโตะคุง บอกว่า เค้าจะเป็น ชาโจ หรือเจ้าของกิจการ ในไม่ช้านี้ แต่ไม่ยอมบอกว่าจะเป็นอะไร เพียงแต่บอกว่า จะติดต่อกลับมา

แล้ววันนี้ ผมก็ได้รับนามบัตรจากเด็กปีสี่ในแล็บ บอกว่า โอโมโตะคุง ฝากมาให้ และกำชับว่าไม่ให้บอกใครในแล็บด้วย

ผมไม่เคยรู้ว่า โอโมโตะคุง วาดรูปสีน้ำได้เท่มากๆ มันเปิดบริษัทรับจ้างทำสมุดหรือหนังสือภาพ ที่ชื่อว่า ชาบนดามะ (ไม่รู้ความหมายเหมือนกัน) รับทำหนังสือภาพสีน้ำแฮนเมดตามออร์เดอร์ ซึ่งจะมีเล่มเดียวในโลกเท่านั้น จะทำเป็นของขวัญให้คนที่คุณรักอะไรได้ตามใจชอบ

ทันทีที่อ่านรายละเอียดต่างๆในเว็บจบ ก็รู้สึกตื่นตัน ที่ โอโมโตะคุง ได้ทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ดีกว่ามานั่งทำงานตามคำสั่งในบริษัทตามแบบฉบับคนญี่ปุ่นทั่วไป จงรักภักดีต่อบริษัทนั้นๆ อย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ก็สิ่งนี้แหละนะที่ทำให้คนญี่ปุ่นเจริญมาทุกวันนี้ได้

เขียนมาซะยืดยาว ก็ขออวยพรให้ โอโมโตะคุง มีความสุขและประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ทำ น็อตโตะซังคนนี้ ก็จะพยายามตั้งใจทำในสิ่งที่อยากทำ ที่ฝัน เท่าที่จะทำได้เหมือนกัน เพื่อนๆที่แวะเข้ามาอ่าน (จะมีมั้ยนี่) ลองเข้าไปดูเว็บหนังสือภาพสีน้ำของรุ่นน้องคนนี้ได้เลย ที่นี่คร้าบ http://www.geocities.jp/shabomdama_kyoto/index.htm

นี่อาจจะเป็นผลของละครญี่ปุ่น ที่มักจะบอกถึงความพยายามในการเดินตามความฝันของตัวเอง ดูแล้วเป็นละครที่จรรโลงใจ สร้างแรงบันดาลใจดีมากๆ ไม่เหมือนละครน้ำเน่าของไทยเรา