Tuesday, June 19, 2007

ตอนที่ 3 งานวิจัย กับคำว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

หลังจากอ่านหนังสือฉากญี่ปุ่นของท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์จบมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ทำให้ย้อนกลับมาดูสิ่งดีๆของคนญี่ปุ่น ของสังคมญี่ปุ่น ที่สามารถพัฒนาประเทศตัวเองขึ้นมาได้มากกว่าเรา ทั้งๆที่ต้นกำเนิดการพัฒนาบ้านเมืองก็เริ่มต้นมาในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แต่ความเร่งของการพัฒนามันช่างแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว สิ่งที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งก็คือ การศึกษา นั่นเอง จากหนังสือฉากญี่ปุ่น ท่านคึกฤทธิ์ได้บอกว่า ญี่ปุ่น ได้มีนโยบายในการพัฒนาด้านการศึกษาไปยังทุกๆที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น เป็นการกระจายการศึกษาให้ทั่วถึง สร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดในสังคมด้วยปัญญา แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ที่เดียวเหมือนเมืองไทย ดังจะเห็นว่าญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยเก่าแก่กว่าร้อยปี และมีชื่อเสียงกระจายไปทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้

ที่เกริ่นเรื่องการศึกษามายืดยาวนั้น เพราะผมคิดว่ามันเป็นพื้นฐานสำคัญจริงๆที่จะทำให้คนเรารู้เท่าทันคน และสามารถที่จะพัฒนาอะไรต่างๆได้มากมาย ซึ่งควรจะมีคำว่าคุณธรรมจริยธรรมเข้ามากำกับด้วย แต่ที่อยากจะเขียนจริงๆวันนี้ก็คือเรื่องของการพัฒนาการศึกษาการวิจัย รวมถึงพื้นฐานของความคิดของคนญี่ปุ่นที่ถ้าคนไทย(ส่วนใหญ่)นำมาใช้บ้างก็จะดีมิใช่น้อยทีเดียว

ภาควิศวะเคมีของมหาวิทยาลัยผมนั้น ทุกปี ในวันก่อตั้งมหาวิทยาลัย (18มิย) ซึ่งเป็นวันหยุด จะเป็นวันที่มีการพรีเซนท์เตชั่นของเด็กปริญญาโทปีหนึ่งที่เพิ่งเข้าเรียนได้ประมาณสองเดือนกว่าๆ การเรียนปริญญาโทขึ้นไปนั้น จะเป็นการเรียนแบบเน้นไปทางงานวิจัยอย่างที่หลายๆคนรู้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในด้านที่เราจะทำการวิจัย ซึ่งในทางการวิจัย เราจะเรียกว่า literature review เด็กโทปีหนึ่งทุกคนที่นี่ จะต้องอ่านรีวิวเปเปอร์ในหัวข้องานวิจัยของตน อย่างน้อยสิบเปเปอร์ และต้องเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่พึงประสงค์เท่าไหร่นัก โดยทุกคนจะต้องสรุปเปเปอร์ที่เราอ่านทั้งหมดให้มาอยู่ในหน้ากระดาษเอสี่สามหน้า และเตรียมพาวเวอร์พ้อยท์สำหรับพรีเซนท์ใหญ่ของเด็กโทปีหนึ่งทุกคน

การที่ผมไปฟังพรีเซนท์เตชั่นรีวิวของรุ่นน้องเมื่อวาน ทำให้มองตัวผมเองกลับไปสองปีที่แล้ว วันที่เข้าเรียนโทใหม่ๆ วันที่ต้องมานั่งอ่านเปเปอร์วิชาการในเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยมีพื้นฐานมาเลย มาเริ่มนับหนึ่งใหม่หมดกับสิ่งที่คนอื่นๆเค้าคิดเค้าทำกันมาหลายสิบปีแล้ว หลายครั้งหลายหน ที่อาจารย์เคยบอกว่าให้ไปไล่อ่านเปเปอร์ให้หมดว่าเค้าทำอะไรมาแล้วบ้าง จะได้คิดออกว่าเราควรจะทำอะไรให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้

กลับมาเรื่องรีวิวเมื่อวานนี้ ได้ฟังพรีเซนท์ของเด็กมาเลย์ที่แล็บ แล้วโดนอาจารย์บอกว่า ที่พรีเซนท์มาทั้งหมดก็เหมือนกับที่เค้าเขียนๆไว้ในตำราเรียน แล้วจริงๆตัวเองอยากจะบอกอะไร อยากจะทำอะไร พอฟังอาจารย์วิจารณ์แล้ว ก็คิดว่าเหมือนกับตัวเองไม่มีผิด ที่มักจะคิดเสมอว่า รีวิว คือการศึกษาความรู้พื้นฐานทั้งหมดที่เค้าศึกษากันมา แล้วนำมาสรุปเพื่อให้ตัวเองมีภูมิความรู้ในเรื่องที่จะคิดทำต่อไป แต่จริงๆแล้วหาใช่แค่นั้นไม่

จริงอยู่ที่ความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากในการที่จะต่อยอดความรู้ของตนออกไป แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การที่สามารถคิด ย้ำว่า ต้องคิด คิดว่าสิ่งที่เค้าทำกันมานั้น มีสิ่งใดบ้างที่ยังเป็นปัญหา หรือมีสิ่งใดบ้างที่ยังศึกษาไม่ถ่องแท้ นอกจากนั้น ยังจะต้องคิดเปรียบเทียบสิ่งที่เค้าศึกษากันแล้วนั้นว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วเราสามารถที่จะนำไปพัฒนาตรงไหนได้บ้าง

นอกจากนั้น สิ่งที่เราจะอ่านรีวิวเพื่อจะนำไปทำการวิจัยจริงๆนั้น ต้องหมั่นดูอยู่เสมอว่า ภายในไม่เกินห้าปีล่าสุด มีใครคิดค้นอะไรใหม่บ้าง ต้องอัพเดทติดตามข้อมูลใหม่ๆอยู่เสมอ กระบวนการทางความคิดเหล่านี้ จะพูดว่ามันอยู่ในสายเลือดของคนญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เพราะผมมองดูพรีเซนท์เตชั่นของเด็กญีปุ่นส่วนใหญ่แล้ว (แม้จะไม่ทุกคนก็ตาม) มักมีสิ่งเหล่านี้อยู่พอสมควร แล้วสามารถที่จะตอบคำถามอาจารย์ที่ว่า คิดจะทำอะไรต่อ แล้วคิดว่าสิ่งที่เค้าทำมานั้นดีไม่ดีอย่างไร การรีวิวที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่สรุปแล้วเออออกับสิ่งที่เค้าทำมาเหมือนเขียนตำรา แต่ต้องวิเคราะห์และหัดตั้งคำถามอยู่เสมอด้วย โดยต้องมองให้รอบด้าน แล้วอธิบายให้เป็นภาษาของตนเองให้ได้

กระบวนการเรียนรู้แบบนี้แหละ ที่ในหลวงได้พระราชทาน เป็นสามคำง่ายๆ แต่ได้ใจความยิ่งนัก เหมือนกับกระบวนการวิจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีและการวิจัยในทุกวันนี้ได้ นั่นก็คือ

ข้อหนึ่ง คือ เข้าใจ ต้องเข้าใจว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร และศึกษาทำความเข้าใจกับความรู้พื้นฐานนั้นและต่อยอดให้เข้าใจกับงานวิจัยใหม่ๆที่เค้าทำกัน
ข้อสอง คือ เข้าถึง นั่นก็คือการคิด คิด และก็คิดวิเคราะห์ถึงข้อมูลที่เราได้รับ ถึงข้อดีข้อเสีย คิดเปรียบเทียบ และลงลึกถึงรายละเอียด
ข้อสาม คือ พัฒนา ก็คือการนำข้อสรุปทางความคิดของเราที่ตกผลึกแล้วนั้น นำมาพัฒนาเป็นงานวิจัยที่เป็นตัวของตัวเอง มีความเป็น originality และทำให้เกิดเป็นงานวิจัยใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้

กระบวนการคิดแบบงานวิจัยนี้ คนญี่ปุ่นยังนำไปใช้ให้เห็นอย่างแพร่หลาย เสมือนอยู่ในสายเลือดอย่างที่ผมได้บอกไป ไม่ว่าจะเป็นในงานข่าว ที่ไม่ใช่แค่มานั่งเล่าข่าวมากมาย แล้วก็ขำๆกันเหมือนที่เป็นที่นิยมในเมืองไทย แต่ที่ญีปุ่น เน้นที่ข่าวสำคัญ แต่เจาะลึกถึงรายละเอียด เช่น ข่าวเครื่องบินขัดข้อง หลังจากที่เหตุเกิดไม่นาน ก็มีการจำลองเหตุการณ์ในสตูดิโอ พร้อมกับวิเคราะห์ถึงสาเหตุอย่างละเอียด ประหนึ่งราวกับตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนเสียเอง หรือแม้แต่รายการเกมโชว์ หรือรายการทีวีหลายๆรายการ ที่มีการให้ความรู้รอบตัวกับประชาชน โดยที่บางรายการถึงกับมีการทำวิจัยเอง บางรายการก็บอกถึงรายละเอียดที่มาที่ไปได้อย่างลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ความรู้กับประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องใกล้ๆตัว อย่าง อาหาร สุขภาพ เป็นต้น ในเมืองไทยเอง ก็เริ่มมีรายการดีๆมากขึ้น โดยเฉพาะของบริษัททีวีบูรพา เช่น กบนอกกะลา และจุดเปลี่ยน หรือของบริทพาโนราม่าเวิร์ลด์ไวด์ เช่น ปราชญ์เดินดิน และโลกมหัศจรรย์ เป็นต้น ก็อยากเห็นรายการเหล่านี้ออกมามากขึ้นอีก เพื่อให้สังคนไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

คนไทยมีของดีอยู่ใกล้ตัว แต่ไม่มีใครนำไปใช้ ไม่มีใครช่วยกันส่งเสริมอย่างจริงจัง อย่าง หลักคิดพระราชทาน อย่าง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"